1. การทดสอบความสมบูรณ์ของเสาเข็ม ( Seismic Integrity Test )

จุดประสงค์เพื่อประเมินสภาพความสมบูรณ์ตลอดความยาวของ เสาเข็ม การทดสอบวิธีนี้เป็นการทดสอบที่สะดวก , รวดเร็ว , และเสียค่าใช้จ่ายต่ำ จึงเหมาะสมและเป็นที่นิยมใช้ตรวจสอบความสมบูรณ์ของเสาเข็ม ในขั้นต้น ( Preliminary test ) หากตรวจสอบพบสภาพบกพร่องที่เกิดขึ้น จึงกำหนดวิธีทดสอบอื่น ๆ ประกอบกับพิจารณาหรือดำเนินการซ่อมแซมแก้ไขต่อไป การทดสอบนี้สามารถดำเนินการได้ทั้งในเสาเข็มคอนกรีตอัดแรงและเสาเข็มเจาะหล่อกับที่ ผลการทดสอบนนี้จะระบุถึงข้อบกพร่องต่าง ๆ อาทิเช่น รอยแตกร้าว ( Crack ) โพรงหรือช่องว่าง ( Void ) รอยคอด ( Size reduction ) หรือบวม ( Size increase ) ของเสาเข็ม เป็นต้น

 เครื่องมือทดสอบ
เครื่องมือทดสอบความสมบูรณ์ของเสาเข็มนั้นเป็นเครื่องมือที่ได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อการทดสอบดังกล่าว มีขนาดเล็ก , น้ำหนักเบา และมีประสิทธิภาพสูง ประกอบด้วย

  • ค้อนทดสอบ ( Hand-Held Hammer )
  • เครื่อง Pile Integrity Tester รุ่น Collector
  • หัววัดสัญญาณคลื่นความเค้น ( Accelerometer Transducer )

 วิธีการทดสอบ
การทดสอบเริ่มจากการติดตั้งหัววัดสัญญาณคลื่นความเค้น ( Acceleronmeter Transducer ) บนหัวเสาเข็มซึ่งต้องการทดสอบโดยหัวเสาเข็มที่ดี ควรจะอยู่ในสภาพที่สะอาด ไม่มีน้ำขังหรือมีเศษดินปกคลุมอยู่ จากนั้นเคาะหัวเสาเข็มดังกล่าวด้วยฆ้อนทดสอบ ( Hand-Held Hammer ) คลื่นความเค้นอัด ( Compression Stress wave ) ที่เกิดจากการเคาะดังกล่าวจะวิ่งผ่านลงไปในตัวเสาเข็ม และจะสะท้อนกลับขึ้นมาเพื่อพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่หน้าตัด หรือพบการเปลี่ยนแปลงความหนาแน่นของเนื้อคอนกรีตหรือเมื่อพบปลายเสาเข็ม คลื่นความเค้นที่สะท้อนกลับขึ้นมา ณ จุดต่าง ๆ ดังกล่าวจะถูกตรวจจับด้วยหัววัดสัญญาณข้างต้น และถูกส่งไปยังเครื่อง Pile Integrity Tester (PIT) เพื่อเปลี่ยนค่าคลื่นสัญญาณความเร่ง ( Acceleration Signal ) เป็นคลื่นสัญญาณความเร็ว ( Velocity Signal ) ก่อนแสดงผลที่หน้าจอทดสอบและบันทึกไว้ ในหน่วยความจำของเครื่องทดสอบดังกล่าว เพื่อนำไปวิเคราะห์ผลในรายละเอียดต่อไป โดยผลการทดสอบดังกล่าว จะนำไปให้วิศวกรผู้ชำนาญการ เป็นผู้ประเมินเสาเข็มดังกล่าวว่าสมบรูณ์ดีหรือไม่ ก่อนจะลงมือดำเนินการทำงานในขั้นตอนต่อไป

2. การทดสอบ Dynamic Load Test

จะใช้รถเครนหรือเครื่องมือ 3 ขาของตัวเสาเข็มเจาะเอง ยกลูกตุ้มน้ำหนักปล่อยกระแทกที่หัวเสาเข็ม เพื่อทำให้เกิดคลื่นความเค้น (Stress Wave) ลงไปตลอดตัวเสาเข็มและสะท้อนกลับขึ้นมา ซึ่งค่าดังกล่าวจะถูกบันทึกโดยตัว Transducers ประกอบด้วย Strain Gauges และ Accelerometer ที่ติดใกล้กับหัวเสาเข็ม สัญญาณที่ได้จะนำไป วิเคราะห์หากำลังการรับน้ำหนักบรรทุกของเสาเข็ม โดยการทดสอบวิธีนี้ เป็นการทดสอบที่มี ค่าใช้จ่ายสูงพอสมควร ก่อนตัดสินใจจะทดสอบ จึงควรจะปรึกษาวิศวกรก่อน ว่ามีความจำเป็นหรือไม่ ในการทำการทดสอบด้วยวิธีการนี้